วิธีปั้น “ดาวน์” ให้เป็น “ดาว” จากแม่ของศิลปินดาวน์ซินโดรม “แคทลียา อัศวานันท์”

วิธีปั้น “ดาวน์” ให้เป็น “ดาว” จากแม่ของศิลปินดาวน์ซินโดรม “แคทลียา อัศวานันท์”

วิธีปั้น “ดาวน์” ให้เป็น “ดาว” จากแม่ของศิลปินดาวน์ซินโดรม “แคทลียา อัศวานันท์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีอาการดาวน์ซินโดรมไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่ต้องการความสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจ แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเอาชนะข้อจำกัดของร่างกายเพื่อทำความฝันให้กลายเป็นจริง เราได้เห็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมปรากฏตัวอยู่ในวงการความสวยความงามอย่างวงการนางแบบหรือนางงาม และหลายคนก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระได้ในสังคม สำหรับประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมที่เลือกเดินตามความฝันโดยการเป็น “ศิลปิน” ที่ไม่เพียงแต่จะได้แสดงผลงานศิลปะสู่สาธารณะ แต่ยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปได้ด้วย เธอคนนั้นมีชื่อว่า “แคทลียา อัศวานันท์” หรือ “เหมียว” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของประเทศไทย

แคทลียา อัศวานันท์แคทลียา อัศวานันท์

ขณะนี้เหมียวในวัย 27 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และได้สร้างผลงานจิตรกรรมแนวอิมเพรสชันนิสม์จำนวนกว่า 200 ชิ้น จนสามารถนำมาจัดแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ ที่มีชื่อว่า “จากดาวน์สู่ดาว (The Art of Inspiration)” ซึ่งจัดขึ้นที่ Venice Art Space วัชรพล รามอินทรา ระหว่างวันที่ 1 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นอกจากผลงานอันจัดจ้านและสะดุดตาเหล่านี้จะแสดงให้เห็นเรื่องราวชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ และจินตนาการของเหมียวแล้ว ยังสะท้อนถึงพัฒนาการทางศิลปะของเธอด้วย และก็ยิ่งทำให้เราอยากรู้จักเธอมากขึ้นไปอีก ซึ่งผู้ที่น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือคุณ “พรประภา อัศวานันท์” คุณแม่ของเหมียว ที่ถือว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยน “ดาวน์” ให้เป็น “ดาวแห่งแรงบันดาลใจ” ในวันนี้

ครอบครัวอัศวานันท์ครอบครัวอัศวานันท์

หลังจากที่เฝ้ารอมานานถึง 2 ปี ทพ. สุนทร และคุณพรประภา อัศวานันท์ ก็ได้รับทราบข่าวดีเรื่องลูกคนแรก พร้อมความตื่นเต้นยินดีและความคาดหวังมากมายเช่นเดียวกับพ่อแม่คนอื่นๆ ทว่าสุดท้าย ภาพลูกสาวที่วาดฝันไว้ว่าจะสวยน่ารักเหมือนแม่และฉลาดเหมือนพ่อ กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะลูกสาวคนแรกของครอบครัวมีโครโมโซมตัวที่ 21 เกินมา 1 กิ่ง ซึ่งหมายความว่าเด็กน้อยผู้นี้มีภาวะ “ดาวน์ซินโดรม”

“พอทราบเรื่องอาการของลูก ความกังวลก็มาทันทีเลยค่ะว่าลูกเราจะโตขึ้นมายังไง คุณพ่อก็ไปดูตำราจากต่างประเทศ และก็พูดปลอบว่า ไม่ต้องไปกังวลว่าลูกจะเป็นอย่างไร อยากให้ลูกเป็นอะไร เราต้องเป็นคนทำ มันเป็นหน้าที่เรา ก็โอเค เข้าใจตามนั้น ชีวิตตั้งแต่นั้นมาก็มีแต่หน้าที่ว่าจะต้องทำนั่นทำนี่ให้ลูก” คุณพรประภาเล่าความรู้สึกหลังจากทราบว่าลูกสาวคนแรกเป็นดาวน์ซินโดรม และตัดสินใจจับมือกับคุณพ่อ เดินหน้าเลี้ยงเด็กน้อยคนนี้ต่อไปอย่างไม่มีแผนการใดๆ ทั้งสิ้น

“ชีวิตเราไม่ได้มีสิทธิ์จะวางแผนอะไร หมอบอกว่าให้เราเลี้ยงลูกไปตามที่เห็น เราเห็นเขาอยู่ตรงไหน ขาดเหลืออะไร เราค่อยเสริมตรงนั้น ไม่ต้องไปคิดไกลว่าลูกจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย คิดแค่ว่าเรียนอนุบาลก็ให้ผ่านอนุบาล เรียนประถมก็ขอให้ผ่านประถม คือมันเป็นการฝึกให้เราอยู่กับปัจจุบัน ลูกเราอยู่ตรงไหนเราก็เสริมไปเรื่อยๆ ให้เขาก้าวไป ตาดูดาวได้ แต่เท้าเราต้องติดดิน เรามีเป้าหมายเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องกระโดดคว้าดาว เราต้องก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น ก็ต้องทำไปทีละขั้น

แต่ความโชคดีของเหมียวและพ่อแม่ก็เกิดขึ้นในอีก 1 ปีต่อมา เมื่อคุณแม่มีลูกสาวคนที่สอง ที่เป็นเด็กปกติและเติบโตไปพร้อมกันกับเหมียว ซึ่งทั้งสองก็เล่นซน ใช้ชีวิต และทำทุกอย่างตามๆ กัน ทำให้เธอไม่ได้รู้สึกแปลกแยกจากคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวจะแข็งแรงมากจนทำให้เหมียวไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่เมื่อต้องก้าวไปสู่สังคมที่ใหญ่กว่าอย่างโรงเรียน เหมียวและคุณแม่กลับต้องพบกับอุปสรรคที่ใหญ่กว่า คือการถูกโรงเรียนหลายแห่งปฏิเสธ จนกระทั่งได้มาเรียนที่โรงเรียนอนุบาลรักลูก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นกิจกรรมเสริมพัฒนาการซึ่ง “เข้าทาง” ของเหมียวแบบเต็มๆ ประกอบกับการที่เด็กๆ อยู่ร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยก ทำให้เหมียวสามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กปกติได้อย่างสบาย ส่วนเรื่องการเรียนนั้น คุณแม่ก็เปิดกว้างและพร้อมสนับสนุนเต็มที่

“เราต้องพยายามไม่จริงจังกับชีวิต คนที่เป็นแม่เด็กพิเศษ รวมทั้งแม่เด็กธรรมดาด้วย ต้องยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ลูกอาจจะไม่ได้หน้าตาดี ไม่ได้เรียนเก่ง แค่เรายอมรับให้ได้ว่าลูกเป็นอย่างไรเท่านั้นก็พอ แล้วเราก็ค่อยๆ ประคับประคองเขาไป เขาชอบอะไรก็สนับสนุนให้ทำ เขาไม่ชอบอะไรก็ไม่เป็นไร ไม่บังคับ เพราะเด็กก็มีความเครียดเหมือนกัน”

“เด็กยุคนี้กดดันมาก เรียนพิเศษตั้งแต่เล็กๆ แม่ว่าไม่มีความสุขนะ แล้วเราไม่รู้ว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร แม่มองว่าเด็กที่ไม่มีความสุขจะอยู่ในสังคมยาก แต่ลูกเราเนี่ย ขอมีความสุขไว้ก่อน เรียนผสมเล่น มีซ้ำชั้นบ้าง แต่ยิ่งเรียนซ้ำก็ยิ่งเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็ไปต่อได้ คือถ้าเดินถอยหลัง 1 ก้าว เพื่อให้เดินต่อได้ แม่ก็โอเคนะ” คุณแม่เผยแนวคิดสุดชิลล์ในการรับมือกับปัญหาการเรียนของลูก

เหมียวและคุณเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปินผู้พิการ ร่วมกันวาดภาพประกอบดนตรีในพิธีเปิดนิทรรศการจากดาวน์สู่ดาวเหมียวและคุณเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปินผู้พิการ ร่วมกันวาดภาพประกอบดนตรีในพิธีเปิดนิทรรศการจากดาวน์สู่ดาว

หลังจากที่เฝ้าสังเกตความถนัดและความสามารถของลูกสาวมาระยะหนึ่ง คุณพรประภาก็พบความสามารถทางศิลปะของเหมียว และเดินหน้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรียกว่าประคับประคองอยู่ห่างๆ ตั้งแต่ก้าวแรกมาจนกระทั่งทุกวันนี้

“เราดูจากสิ่งที่เขาชอบทำเวลาอยู่บ้าน มีวาดรูปกับร้องเพลง แต่เหมียวร้องเพลงไม่ได้เรื่องเลย ก็เลยไม่สนับสนุน เราเห็นเขาชอบทำอะไรก็แอบมองหน่อย ว่าอันนี้ไปต่อได้ไหม และต้องติเพื่อก่อ เขาชอบวาดรูปก็วาดไป มีกระดาษ มีดินสอก็วาดไปเรื่อยๆ ได้ มันเหมือนกับเป็นความสุขของเขาที่ได้นั่งทำอะไรบางอย่างแล้วชอบ ถ้าลูกชอบทำ เราก็พอใจแล้ว” คุณพรประภากล่าว

เหมียวและน้องช่อแก้ว ชนิตา ธรรมธัชพิมล นักดนตรีดาวน์ซินโดรมเหมียวและน้องช่อแก้ว ชนิตา ธรรมธัชพิมล นักดนตรีดาวน์ซินโดรม

การปรับตัวเพื่อเข้าสังคม ความใจเย็น มีเมตตา และมีน้ำใจ คือจุดแข็งที่ทำให้เหมียวสามารถเอาชนะใจเพื่อนๆ ขณะเดียวกัน เหมียวก็โชคดีที่ได้อยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเพื่อนที่มีความเอื้อเฟื้อและคอยช่วยเหลือเหมียว ตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลจนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย

“เขาไม่เคยแย่งของเพื่อน เพื่อนจะแย่งของไปหรือโดนขโมยก็ช่าง เขาไม่สนใจ ไม่หวงของ เขาเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่ว่าสังคมนี้ต้องการการให้มากกว่าการรับนะ อาจจะโชคดีตรงที่ว่าเขาอยู่ในสังคมที่ดี เพื่อนๆ ไม่แกล้งกัน ไม่ชิงดีชิงเด่นกัน อยู่กันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน แม่ว่าก็เป็นอะไรที่งดงาม เราจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีกกับลูกเรา แค่ไปโรงเรียนแล้วมีความสุขทุกวันดีกว่าไหม”

อย่างไรก็ตาม เหมียวยังคงใช้เวลานานกว่าเพื่อนร่วมรุ่นในการเรียนแต่ละชั้นปี และใช้เวลาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยถึง 7 ปี ทว่าเหมียวก็ยังไม่ย่อท้อ และยังคงขยันทำงานส่งอาจารย์อย่างต่อเนื่อง และกลายเป็น “ไอดอล” ของรุ่นพี่คนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

“รุ่นพี่คนนี้เล่าว่าระหว่างเรียนเขาก็โดนอาจารย์ด่าประจำ เรียนจบไปก็ขายรูปไม่ได้ เขาก็กลับไปที่คณะ เห็นเหมียววาดรูป แล้วก็ตระหนักเองว่าเหมียวผิดปกติแต่ก็ยังบากบั่นทำงานทุกวัน เขาบอกว่า ‘ผมวาดรูปแล้วมีคนมาติว่าวาดไม่สวย ผมก็หยุดวาด’ เราก็ ‘เอ้า! ถ้าหยุดวาดแล้วจะมีอะไรใหม่ๆ วันนี้รูปนี้อาจจะยังไม่โดนใจคนซื้อ รูปที่ 55 อาจจะมีคนซื้อ แต่ถ้าคุณหยุดวันนี้ที่รูปที่ 1 ก็จะไม่เหลืออะไรเลย’”

“เรื่องวาดรูปเป็นของเรา เรื่องคะแนนเป็นของอาจารย์ อาจารย์ไม่ให้คะแนน วาดใหม่ก็ได้ ชีวิตมันง่ายแค่นั้นจริงๆ นะ วันนี้ยังไม่ดี ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ดีนี่ เราก็ปรับตัวเองไปเรื่อยๆ ทุกคนพัฒนาตัวเองได้ อย่าไปหยุดพัฒนาตัวเอง” คุณแม่กล่าว

ในขณะที่เหมียวเติบโตและเรียนรู้โลกภายนอกด้วยตัวเอง คุณแม่เองก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเหมียวด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณแม่ยอมรับว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้

เราเรียนรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรอีกเยอะ เราได้รู้ว่าโลกนี้มีคนที่ไม่เข้าใจ บางเรื่องเราเรียนแล้วเราเข้าใจหมดแล้ว ทำไมลูกเราทำไม่ได้ เราเรียนรู้ว่ามันมีอะไรอีกเยอะที่มันอธิบายไม่ได้ และไม่เป็นไปตามสูตรสำเร็จ เรียนชั้น ป. 1 ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องขึ้น ป. 2 เรียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะเขียนหนังสือได้ ก็ต้องมานั่งสอน”

“ลูกสอนให้เรารู้เลยว่าเรายังรู้น้อยมาก แล้วการที่เราสอนลูกมันต้องใช้ความอดทน จิตวิทยา ลูกล่อลูกชนเยอะมาก” คุณแม่เล่าความรู้สึก พร้อมเผยถึงเทคนิคในการแก้ปัญหาหนักอกอย่างการใช้เงินของลูกสาว ที่มีสาเหตุมาจากการบวกลบเลขไม่เป็น จนโดนแม่ค้าโกงเงินทอนบ่อยๆ

“แม่ก็บอกว่าถ้าปิดเทอมแล้วมีเงินเหลือเข้าธนาคารเท่าไรเดี๋ยวแม่ให้เพิ่มเท่านั้น คราวนี้มีเงินทอนกลับบ้านทุกวัน! เพราะเหมียวก็จะยืนคอยจนกว่าแม่ค้าจะทอนเงินมา ลูกเริ่มรู้ว่าถ้าให้เงินไปต้องมีทอน ลูกเราก็จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ต้องบวก ลบ คูณ หารเป็นก็ได้มั้ง แค่รู้ค่าของเงินว่าเงินนี้มากกว่าเงินที่ต้องจ่าย ต้องมีเงินทอนกลับมา แค่นี้ก็พอ”

แม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวสำหรับอนาคตของเหมียว แต่จากผลงานและนิทรรศการศิลปะของเหมียว ก็น่าจะเป็นแนวทางให้กับโครงการในอนาคตของเหมียวและคุณแม่ นั่นคือการถ่ายทอดความรู้และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กพิเศษคนอื่นๆ ส่วนตัวของเหมียวก็เคยเล่าว่าอยากเป็นครูสอนศิลปะให้เด็กด้อยโอกาส

“แม่มองว่าน้องเองก็ต้องวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสเหมียวก็จะได้ไปเป็นอาสาสมัครช่วยสอนน้องๆ ที่สถาบันราชานุกูล เพื่อที่เขาจะได้ถ่ายทอดความรู้ให้น้องรุ่นต่อๆ ไป และวาดภาพเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการต่อไป” คุณแม่กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ ของ วิธีปั้น “ดาวน์” ให้เป็น “ดาว” จากแม่ของศิลปินดาวน์ซินโดรม “แคทลียา อัศวานันท์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook