ใช้สกิล “ไทยมุง” แก้ปัญหาคุกคามทางเพศกับแคมเปญใหม่ “ถึงเวลาเผือก”
นับตั้งแต่โลกมีนวัตกรรมอย่างอินเตอร์เน็ต การสืบหาข้อมูลต่างๆ ก็สามารถทำได้อย่างฉับไว และสามารถขุดคุ้ย ล้วงลึกได้ประหนึ่งนักสืบจิ๋วโคนัน โดยเฉพาะในสังคมไทยทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือในการสอดส่อง “เรื่องชาวบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ไปจนถึงเรื่องขาเตียงดารา จนเกิดคำศัพท์เฉพาะทางอย่าง “เผือก” ซึ่งมีที่มาจากการนำตัว ผ.ผึ้ง ไปแทน ส.เสือ ซึ่งมีความหมายว่า “เข้าไปจุ้นจ้านในเรื่องของคนอื่นโดยไม่ใช่หน้าที่หรือโดยไม่สมควร” และกลายเป็นกิจกรรมหลักทุกครั้งที่เกิดประเด็นในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นที่ชาวไร่เผือกมักจะหลีกเลี่ยง นั่นคือ “การคุกคามทางเพศ” ที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเกิดเหตุจริงหรือไม่ หรือหากเป็นเรื่องจริง เมื่อมีคนเข้าไปมุง ผู้กระทำการคุกคามก็มักจะตอกกลับมาว่า “เรื่องของผัวเมีย” ทำเอาเกษตรกรขุดเผือกถึงกับเงิบกันเป็นทิวแถว ปล่อยให้เหยื่อถูกคุกคามโดยที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ส่วนผู้กระทำผิดนั้นก็อาจจะย่ามใจและไปก่อเหตุซ้ำอีก กลายเป็นปัญหาวนเวียนไม่จบสิ้นเหมือนไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน
เพราะการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องเล็กๆ การเผือกเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามจึงจำเป็นต้องใช้สกิลระดับแอดวานซ์เพื่อให้การเผือกเกิดประโยชน์ ดังนั้น องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จึงจับมือกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง จัดทำแคมเปญในชื่อสุดแซบว่า “ถึงเวลาเผือก” ซึ่งมุ่งป้องกันการคุกคามทางเพศในการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก
การคุกคามทางเพศคืออะไร
ก่อนที่จะปฏิบัติการเผือกเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการคุกคามทางเพศนั้นหมายความว่าอย่างไร โดย ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า “การคุกคามทางเพศคือการแสดงออกผ่านการกระทำกับบุคคลอื่น ทั้งกับผู้ชาย ผู้หญิง และคนข้ามเพศ โดยการกระทำนั้นมีนัยเรื่องเพศ โดยที่บุคคลอื่นที่เป็นเป้าไม่ได้ยินดีหรือไม่ได้พอใจ แต่การคุกคามทางเพศจะมีลักษณะที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากความรุนแรงทางเพศในลักษณะอื่น เช่น การข่มขืน ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่มองไม่ออก ก็ต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมของผู้กระทำผิด เช่น การมองจ้องเฉพาะที่ มองแบบโลมเลีย การถูไถ โชว์อวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งการเดินตามเป็นระยะทางไกล ขณะที่ผู้ที่ตกเป็นเป้าก็มีท่าทีอึดอัดและพยายามขยับหนี”
“การขนส่งสาธารณะ” จุดเสี่ยงเกิดการคุกคามทางเพศ
แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่ใดมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาจากชีวิตประจำวันของคนเมือง ก็พบว่าคนเมืองใช้การขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสที่จะประสบพบเจอกับเหตุคุกคามทางเพศสูง ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามด้วยวาจา สายตา การสัมผัสถูกเนื้อต้องตัว หรือมีคนมาโชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น ซึ่งคุณวราภรณ์ ก็ได้เปิดเผยตัวเลขจากผลการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเฉพาะในกรุงเทพฯ จำนวน 1,654 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้หญิง ผู้ชาย และเพศอื่นๆ ปรากฏว่า 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของคนทุกเพศ ระบุว่าเคยเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ โดย 45% ของผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าเคยเจอเหตุการณ์ขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ ขณะที่คนข้ามเพศมีประมาณ 37 - 38% ที่เคยพบเห็นเหตุการณ์ ส่วนผู้ชายมีเพียง 15% ที่เคยพบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ
ด้าน คุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย หนึ่งในผู้นำแคมเปญถึงเวลาเผือก กล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดก็คือเราต้องการให้หยุดการคุกคามทางเพศในทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบขนส่งสาธารณะ เพียงแต่ว่าตอนนี้ ระบบขนส่งสาธารณะเป็นพื้นที่ที่มีการคุกคามทางเพศสูง แล้วก็ไม่มีมาตรการอะไรที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้เลย ดังนั้น สิ่งแรกที่เราเรียกร้องให้จัดการให้เกิดความปลอดภัยก็คือเรื่องนี้”
การคุกคามทางเพศก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง
นอกจากการคุกคามทางเพศจะส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่ประสบเหตุด้วย โดยผู้ที่เคยประสบเหตุบางคนไม่กล้ากลับบ้านเวลาเดิมหรือในเส้นทางเดิม เพราะกลัวจะเจอเหตุการณ์ซ้ำ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งผลเสียในระดับสังคม
“ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ไม่รู้ว่าเราจะเจอเหตุการณ์อะไรขณะที่เราขึ้นรถเมล์ รถตู้ บีทีเอส มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ และเรายอมหรือปล่อยให้มันเกิดไป มันก็คือการยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของคนหมู่มากที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ถ้ามองว่ามันเป็นความปลอดภัยของประชาชน อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องใหญ่” คุณวราภรณ์กล่าว
เผือกอย่างไรให้เป็นประโยชน์
แคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” พัฒนามาจากโครงการอบรมเรื่องการคุกคามทางเพศให้แก่พนักงานของ ขสมก. ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้พนักงานสามารถสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมทั้งผลิตสติกเกอร์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และในปีนี้โครงการเพื่อความปลอดภัยดังกล่าว ได้ขยายพื้นที่ออกไปเพื่อสร้างความร่วมมือให้ประชาชนหันมาเอาใจใส่เพื่อนร่วมทาง และเข้ามา “เผือก” เพื่อหยุดการคุกคามได้อย่างทันท่วงที
“เรามองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะเผือกได้ คือไม่นิ่งเฉยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเขาตกเป็นเป้า เขาก็ควรจะต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ แต่ถ้าเขาไม่รู้ตัว คนที่เห็นหรืออยู่ในสถานการณ์นั้นก็ควรเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือแจ้งให้ผู้ที่ตกเป็นเป้ารู้ตัว ก็จะเป็นการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การเผือกยังทำให้ผู้กระทำหยุดพฤติกรรม เพราะที่ผ่านมา ผู้หญิงบางคนอาจจะไม่รู้ตัว บางคนรู้ตัวแต่ไม่กล้าเดินหนีหรือส่งเสียงขอความช่วยเหลือ มันก็เลยยิ่งทำให้ผู้กระทำยิ่งได้ใจ และทำพฤติกรรมอย่างนี้กับคนอื่นต่อไป ดังนั้นถ้ามีการส่งเสียง หรือทำให้ผู้กระทำได้รู้ว่าทุกคนเห็นและกำลังจับจ้องเขาอยู่ และอาจจะมีการเอาผิด คนกลุ่มนี้ก็จะไม่กล้ากระทำต่อเนื่อง หรือไม่ก็ลดไปเลย” คุณรุ่งทิพย์กล่าว
นอกจากจะเป็นแคมเปญที่มุ่งให้เกิดการสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันขณะที่เดินทางแล้ว “ถึงเวลาเผือก” ยังออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการปกป้องคุ้มครองและรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนทั่วไปส่งความคิดเห็นและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาในเฟซบุ๊กของโครงการรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และนำข้อเรียกร้องเหล่านี้ไปยื่นให้กับหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และติดตามให้หน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
เผือกทั้งที ต้องมีหลักฐาน
“ผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ คือทำเพราะคิดว่าไม่มีใครสนใจ ซึ่งการที่ไม่มีใครสนใจ อาจจะเป็นเพราะว่าคนที่ถูกกระทำกำลังตกใจ ทำอะไรไม่ถูก หรือไม่รู้ตัว และคนรอบข้างที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้สนใจ หรือไม่เข้ามายุ่ง ฉะนั้น พอใครแสดงอาการว่า ฉันรู้นะว่าคุณกำลังทำอะไร และมันไม่โอเค คนที่คุกคามก็จะหยุดและหลบหนีไป เช่น ลงรถป้ายถัดไป” คุณวราภรณ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการเผือกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือการเข้าไปแทรกแซงเมื่อเห็นเหตุการณ์ โดยถามด้วยเสียงดังว่าทำอะไร เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ที่คุกคามเห็นว่ามีคนเห็น
“ส่วนเรื่องหลักฐาน เดี๋ยวนี้เรามีโทรศัพท์กันทุกคน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นเหตุการณ์ อาจจะถ่ายคลิปไว้แล้วแจ้งคนที่ถูกกระทำหรือเจ้าหน้าที่ประจำรถ ว่าเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น จะเอาเรื่องไหม ถ้าจะเอาเรื่อง เรามีหลักฐาน อันนี้ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีให้เป็นประโยชน์ และก็จะไปช่วยอุดช่องว่างตรงที่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีหลักฐาน เป็นระดับที่บุคคลจะช่วยกันได้” คุณวราภรณ์กล่าวเสริม
จะทำอย่างไรไม่ให้การเผือกล้มเหลว
แม้ว่าปฏิบัติการเผือกจะฟังดูง่ายดาย แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้หลายคนไม่มั่นใจที่จะเข้าไปเผือก ด้วยเกรงว่าจะถูกหาว่าคิดมาก หรืออาจ “เป็นหมา” หากผู้ประสบเหตุไม่คิดจะเอาเรื่องเพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งทั้งคุณวราภรณ์และคุณรุ่งทิพย์ก็ยืนยันว่าควรเผือก และให้ความเห็นว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่จำเป็น
“คนที่ถูกกระทำ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เจอแล้วตกใจ ทำอะไรไม่ถูก คิดว่าถ้าโวยวายไปคนอื่นจะหาว่าคิดมากหรือเปล่า ขณะที่คนที่เห็นเหตุการณ์ก็คิดว่าเจ้าตัวยังไม่โวยวายเลย ถ้าเข้าไปยุ่งมันจะเกินกว่าเหตุหรือเปล่า พอต่างคนต่างคิดแบบนี้มันก็เอื้อประโยชน์ให้คนที่ทำ เพราะทำแล้วไม่มีใครมายุ่ง เราก็พยายามสื่อสารว่าการคุกคามมันมีรูปแบบใดบ้าง” คุณวราภรณ์กล่าว
ด้านคุณรุ่งทิพย์กล่าวว่า “เคยมีคนถามเหมือนกันว่า เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าเขาเป็นสามีภรรยาหรือเป็นแฟนกันหรือเปล่า มันสังเกตได้ง่ายค่ะ ถ้ามีการถูไถและอีกคนพยายามกระเถิบหนี หรือทำตัวเกร็ง มันจะมีปฏิกิริยาบางอย่างที่พยายามป้องกันตัวเอง หรือเดินหนี เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะรู้ว่าเขาจงใจหรือไม่ มันสามารถดูได้จากท่าทางหรือปฏิกิริยาตอบโต้ของคนคนนั้น ถ้าความรู้สึกตรงนั้นคือ อึดอัดคับข้องใจ ไม่สบายใจ มันก็คือการคุกคามแล้ว”
“ถ้ามีสถานการณ์เกิดขึ้นบนรถเมล์แล้วคุณไม่แน่ใจ คุณสามารถแจ้งกระเป๋ารถเมล์ได้ว่าเราไม่แน่ใจว่าเขากำลังคุกคามหรือเปล่า เพราะกระเป๋ารถเมล์เจอมาเยอะ เขาจะเดินเข้าไปแทรกแซงโดยการให้ผู้โดยสารหญิงย้ายที่นั่ง หรืออะไรก็แล้วแต่” คุณรุ่งทิพย์กล่าวเสริม
“ประเด็นที่เราอยากจะบอกก็คือ การเผือกคือการไม่นิ่งเฉย การที่คุณคอยเป็นหูเป็นตาดูแลเพื่อนร่วมทางไปด้วยกัน เพราะว่าเมืองนี้จะปลอดภัยได้จริงๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ที่เป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นมาตรการหรือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เมืองปลอดภัย รวมทั้งต้องช่วยกันส่งเสียง ช่วยกันเรียกร้องให้รัฐเข้ามากำกับดูแลพื้นที่เสี่ยง มันจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เมืองปลอดภัยมากขึ้น” คุณรุ่งทิพย์ยืนยันอีกครั้ง
เมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าเมืองที่ปลอดภัยในมุมมองของผู้หญิงที่ทำงานเพื่อผู้หญิงอย่างคุณวราภรณ์และคุณรุ่งทิพย์คืออะไร ก็ได้คำตอบว่าที่จริงแล้ว ทุกพื้นที่ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นที่การปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกในการเคารพสิทธิใน ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่นในการเดินทาง ไม่ว่าที่ใดและเมื่อไรก็ตาม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ต้องถือว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใหญ่ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ที่ประสบเหตุ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ หรือป้องกันไม่ให้เกิดผู้กระทำผิดรายใหม่ รวมทั้งสร้างบรรยากาศให้ประชาชนอยากมาแจ้งเหตุ แต่ที่สำคัญก็คือ คนในสังคมไม่ควร “เคยชิน” กับปัญหาที่เกิดขึ้น
“ถ้าคนทุกคนรู้สึกว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคน และรู้สึกว่าเราต้องช่วยกันดูแลพื้นที่สุ่มเสี่ยงให้มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย มันจะลดความเสี่ยงในพื้นที่นั้น ส่วนตัวคิดว่ามันจะช่วยให้เมืองปลอดภัยขึ้นมาได้ แล้วก็ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันน่าจะเป็นกลไกที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย เพราะเราเป็นคนที่อยู่ในเมือง และเราทุกคนก็ต้องเดินทาง เราอาจจะมีชีวิตที่ยุ่งวุ่นวายเลยอาจจะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ก็ลองกลับมามองดูแล้วก็ช่วยกัน ก็น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะหยุดการคุกคามทางเพศและสร้างความปลอดภัยในพื้นที่เมืองได้” คุณรุ่งทิพย์กล่าว