อาการแบบไหน? คือสัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์

อาการแบบไหน? คือสัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์

อาการแบบไหน? คือสัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคไบโพลาร์ (Bipolar) หรือเรียกว่าโรคอารมณ์แปรปรวน จัดเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคทางด้านเรื่องอารมณ์ กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้าคือ โรคอารมณ์ที่ชัดเจน ที่มีอารมณ์เบื่อเศร้า แต่โรคไบโพลาร์จะมีลักษณะที่มีอารมณ์สนุกสนานสลับกับอารมณ์ซึมเศร้า เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็น 2 ขั้ว เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง

โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทำให้ลูกหลานของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งโดยส่วนมากมักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน แต่บางรายอาจเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ไม่ถึง 20 ปี และบางรายอาจเริ่มมาเป็นหลังอายุ 40 ปี ซึ่งอาการของโรคไบโพลาร์ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงดังนี้

1.ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคนี้จะเริ่มมีตั้งแต่ แยกตัว, เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร, เรี่ยวแรงลดลง, กินไม่ได้ นอนไม่หลับ, มองทุกอย่างในแง่ลบ และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า มีความคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายคือ 15-20%

2.ช่วงสนุกสนาน เป็นช่วงอารมณ์ดีมากเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็น และมักจะไม่มีเหตุผลหรือไม่สมเหตุสมผล ซึ่งในช่วงนี้ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีลักษณะอาการพูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่ยอมหยุด, มีความเชื่อมั่นในตนเองมาก รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถ, เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย, มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำลงจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี, ไม่ชอบให้ใครมาขัด จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด อาจถึงขึ้นใช้อารมณ์ก้าวร้าวได้, การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย , สมาธิลดลง เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงแม้จะอยู่ในช่วงอารมณ์สนุกสนาน แต่ผู้ป่วยไบโพลาร์ก็ยังมีความคิดในเรื่องการฆ่าตัวตาย

หากพบว่าคนรอบตัวมีอาการดังกล่าว หรือสังเกตเห็นว่ามีการขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-7 วัน และมีความผิดปกติของการกินนอนร่วมด้วย รวมทั้งมีผลกระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ยอมทำการรักษา อาการต่างๆ อาจจะดีขึ้นเองในบางราย แต่กว่าอาการจะดีขึ้นต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ในช่วงที่มีอาการป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยและคนรอบตัว เช่น ผู้ป่วยอาจใช้สารเสพติด ก่อหนี้สินมากมาย หรือบางรายทำผิดกฎหมาย จนต้องออกจากงานหรือโรงเรียน และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุดคือ การทำร้ายผู้อื่นหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งอาการครั้งหลังจะเป็นนานและถี่ขึ้น

ทางที่ดีหากพบว่าตนเองหรือคนรอบตัวมีอาการทางจิตในแปลกไปหรือมีความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook