เช็คด่วน! 5 สาเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ปวดหัวบ่อย
อาการปวดหัว เป็นอาการทางสุขภาพอย่างหนึ่งที่เราสามารถพบได้บ่อยที่สุด แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่าไรนัก แต่ก็พอจะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดและไม่สบอารมณ์กับช่วงเวลานั้น ๆ เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ บางคนอาจหายได้เอง แต่บางคนอาจจะมีอาการปวดท้ายทอยและเบ้าตาเพิ่มมากขึ้น จนต้องลุกไปทานยาหรือนอนพักผ่อนในที่สุด รู้หรือไม่ว่าสาเหตุของอาการปวดหัวนั้นมีมากมาย แต่ที่มักจะพบเจอบ่อย ๆ มีดังต่อไปนี้
1.ความเครียด
ความเครียด ความวิตกกังวล และความกดดัน เป็นภาวะที่ทำให้เกิดการปวดหัวได้มากที่สุด อาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียดส่วนมาก มักจะเป็นการปวดหัวแบบหนัก ๆ ปวดในแบบที่คิดอะไรไม่ออก ปวดที่บริเวณขมับทั้งสองข้าง (อาจมีบางครั้งที่ปวดขมับเพียงข้างเดียว) ถ้าอาการรุนแรงมาก อาจพบการปวดคอและไหล่เพิ่มขึ้นด้วย การปวดหัวจากความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย หรือทุกครั้งที่เกิดความเครียด
2.ใช้สายตาอย่างหนัก
สำหรับผู้ที่ทำงานออฟฟิศ หรือต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ที่ชอบเล่นแท็ปเล็ตและสมาร์ทโฟนตลอดเวลา จะรู้สึกถึงการปวดหัวที่มาแบบตุบ ๆ ร่วมกับอาการปวดคอ และปวดกระบอกตา ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการปวดหัว เป็นเพราะปัญหาสายตาที่สั้นลง จึงทำให้ต้องมีการโน้มตัวเข้าใกล้หน้าจอมากกว่าเดิม
3.ติดกาแฟ
คนที่ชอบดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวันจนถึงขั้นที่เรียกกันว่า "เสพติดคาเฟอีน" เพื่อให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ไม่ได้ทานกาแฟ หรือทานกาแฟมากเกินกว่าที่ปริมาณร่างกายจะรับได้ ก็จะมีอาการปวดหัวอย่างหนัก บางคนอาจมีการปวดกระบอกตาร่วมอยู่ด้วย ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก็อาจจะกลายเป็นโรคไมเกรนได้ในที่สุด
4.พักผ่อนไม่พอ
เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการปวดหัวที่สามารถพบเจอได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบนอนดึกแล้วต้องตื่นเช้า จะมีอาการปวดหัวอย่างหนัก รู้สึกเหมือนกับศีรษะหนักจนยกขึ้นจากหมอนแทบไม่ไหว แม้จะทานยาแก้ปวดไปแล้วก็ไม่ดีขึ้นจนกว่าจะหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
5.ความดันโลหิตสูง
มีอาการปวดหัวชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะปวดทุกวันจนถึงขึ้นปวดหัวเรื้อรัง แม้ว่าจะทานยา หรือนอนเต็มอิ่มเพียงใด ก็ไม่สามารถลดอาการปวดศีรษะนี้ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะความดันโลหิตในร่างกายพุ่งสูงขึ้นนั่นเอง ลองสังเกตตัวเองดูว่า ถ้ามีอาการปวดหัวเรื้อรัง ร่วมกับเหนื่อยง่าย บางครั้งรู้สึกเวียนศีรษะเหมือนจะวูบ ควรไปพบแพทย์ทันที
ใครที่ชอบปวดหัวอยู่บ่อย ๆ และไม่มั่นใจว่าจะมีสาเหตุมาจาก 5 ข้อที่เราได้กล่าวมาหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหรือขอคำปรึกษา เพื่อที่จะได้รักษาให้ถูกต้องต่อไป