เครียดขณะตั้งครรภ์ ทำร้ายทารกในครรภ์ได้หรือไม่?
ความเครียดส่งผลต่อทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตใจ ได้แก่ อาการไม่สบายทางกายต่างๆ เช่น ปวดหัว, ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย, ความผิดปกติของหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, โรคกระเพาะ ฯลฯ และผลต่อสุขภาพจิตใจ นำไปสู่ความวิตกกังวล, ซึมเศร้า, กลัวอย่างไร้เหตุผล, อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย ฯลฯ
ผลกระทบที่เกิดจากความเครียด
ผลกระทบจากความเครียดเหล่านี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อด้านสุขภาพแล้ว ยังส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน สัมพันธภาพต่อครอบครัวกับบุคคลแวดล้อม และเมื่อประสิทธิภาพในงานตกต่ำ สัมพันธภาพเสื่อมทรามลง ก็จะทำให้เครียดมากขึ้นซ้ำซ้อน จึงนับได้ว่าความเครียดเป็นภัยต่อชีวิตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกายและระดับฮอร์โมนภายใน ทำให้คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิดโมโหง่าย และรู้สึกเครียดและวิตกกังวลต่อเรื่องต่างๆ นอกจากความเครียดจะทำลายสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ ยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์อีกด้วย
เมื่อแม่ท้องเครียดจะเกิดอะไรขึ้น อันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่?
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดความเครียดสะสม ร่างกายจะหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา (สารอะดรีนาลิน) แต่เมื่อคุณแม่มีอารมณ์ดีร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (สารเอ็นโดรฟิน) ซึ่งทารกในครรภ์จะสามารถรับรู้อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของคุณแม่ได้จากสารเคมีที่หลั่งออกมาในกระแสเลือด โดยในขณะที่ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลิน จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกและรกเกิดการหดตัว จึงทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง จึงทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า มีโอกาสติดเชื้อในครรภ์สูง มีภาวะเสี่ยงต่อการแท้ง และส่งผลให้ทารกหลังคลอดมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณณฑ์ มีปัญหาด้านสุขภาพ มีพัฒนาการช้า ส่งผลให้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ยาก อีกทั้งยังทำให้มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น เป็นเด็กขี้แย, ขี้ตกใจ, โมโหง่าย, ร้องไห้เก่ง. กลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก และอาจทำให้เด็กมีภาวะซึมเศร้า
วิธีรับมือกับความเครียดขณะตั้งครรภ์
ในขณะตั้งครรภ์ อาการคนท้องที่เกิดขึ้นก็นับว่ามีหลายอย่างแล้ว และกับความเครียดนั้นเพื่อจัดการกับความเครียดได้อย่างไร้กังวล คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่ต้องพบในช่วงขณะตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังเป็นการช่วยลดความเครียดและความกังวลใจอีกด้วย และเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เริ่มรู้สึกเครียด อย่าปล่อยให้ความเครียดสะสมนานๆ ควรผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เช่น เดินเล่นเปิดหูเปิดตา, พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน, ดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกมส์, อ่านหนังสือ, หาอาหารหรือขนมอร่อยๆ ทาน, ออกกำลังกายอย่างเบาๆ อย่างการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, พูดคุยเล่นกับเด็กในท้อง หรือฝึกผ่อนคลายโดยตรง เช่น การฝึกสมาธิหรือการฝึกหายใจให้ถูกวิธี ก็จะช่วยลดความเครียดและความกังวลใจได้มากทีเดียวค่ะ
และนี่ก็คือ วิธีผ่อนคลายความเครียดขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่หลายท่านก็คงรู้ดีแล้วว่าความเครียดนั้นเป็นอีกหนึ่งอาการคนท้องที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ลำพังหรือต้องรับผิดชอบภาระต่างๆ คนเดียว รวมถึงปัญหาครอบครัวที่อาจเกิดขึ้น แน่นอนว่าความเครียดจะส่งผลกระทบยังทารกและสุขภาพคุณแม่ได้ ดังนั้น พยายามหาทางแก้ รับมือกับความเครียดเข้าไว้จะดีที่สุด