เรื่องโรคข้อเข่า สะบ้าเคลื่อนในสุนัข

เรื่องโรคข้อเข่า สะบ้าเคลื่อนในสุนัข

เรื่องโรคข้อเข่า สะบ้าเคลื่อนในสุนัข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ที่จำกัด ทำให้การเลือกเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กๆได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เจ้าของสุนัขไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์เล็กก็คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคข้อเข่าและสะบ้าเคลื่อน วันนี้ In Emergency ไปพูดคุยกับ อ.สพ.ญ.ชาลิกา หวังดี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อเข่าและสะบ้าเคลื่อน ที่แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสืบสาวราวเรื่องถึงโรคที่สุนัขหลายๆตัวกำลังเป็นและเสี่ยงที่จะเป็น

 


สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่า

"ส่วนใหญ่เคสของอาจารย์ที่มาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคข้อเข่า โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กๆ เช่น ปอมเมอเรเนียน ซึ่งจะเป็นเยอะที่สุดกว่า 80 เปอร์เซนต์ ชิวาว่า หรือยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย พวกนี้เขาจะมีลักษณะเกี่ยวกับโรคที่เขาเรียกว่า สะบ้าเคลื่อน ซึ่งจะพบในสุนัขพันธุ์เล็กเป็นหลัก สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรม เมื่อสุนัขที่เป็นโรคนี้ผสมกันจะถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก

ยังไม่มีใครทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเกิดในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า อาจจะเพราะกล้ามเนื้อด้านในอาจจะบางกว่า แต่โดยรวมแล้วเกิดจากแนวทางทำงานของกล้ามเนื้อที่มันเป็นเอ็นของกระดูกสะบ้าผิดปกติไป อาจจะเกิดจากกระดูกก่อน หรือกล้ามเนื้อก่อนก็ได้ เมื่อเป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนหนึ่งเกิดจากยีนเลยมีการถ่ายทอดมาสู่ลูก"


"นอกจากพันธุกรรมแล้วสาเหตุอย่างอื่นอาจจะเกิดจากการกระทบกระแทก และกล้ามเนื้อของเอ็นที่หย่อนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น พื้นลื่น เดินแล้วขาลื่นไปทำให้โครงสร้างต่างๆเสียหาย อาจจะทำให้เกิดสะบ้าเคลื่อนที่ไม่ได้เกิดมาจากกำเนิดแต่พัฒนาขึ้นมาภายหลังได้เหมือนกัน"

อาการที่พอสังเกตได้

"ถ้าเป็นในลักษณะเริ่มต้น หรือยังเป็นไม่มาก ก็อาจจะสังเกตไม่เจอ แต่ในกรณีที่มันเคลื่อนและพัฒนาเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขเด็กๆที่กระดูกมีการเจริญเติบโต มีการยืด ยาว ลักษณะของเอ็นและกระดูกสะบ้าที่ผิดไปจากแนวปกติจะทำให้โครงสร้างของขาในส่วนล่างผิดรูปไป เกิดในลักษณะของขาผิดรูป ซึ่งพวกนี้จะทำให้สุนัขเดินขาบิด ขาด้านนอกกับด้านในเดินไม่เท่ากัน จะเห็นว่ามีการผิดรูปของขาอย่างชัดเจน

เจ้าของจะสังเกตได้เลย แต่อย่างที่บอกว่าลักษณะเริ่มแรก เป็นในระดับต่ำๆ หรือในกระดูกที่โตเต็มที่แล้ว โครงสร้างไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เจ้าของอาจจะสังเกตเห็นไม่เจอ เป็นอาการที่เขาเรียกว่าข้อเข่าไม่มั่นคง ในกรณีนี้จะโน้มนำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เช่น อาจจะมีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า จะแสดงอาการเจ็บอย่างชัดเจน แล้วจะทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมาได้ง่ายกว่า"

"อาการเบื้องต้นที่สังเกตเห็นได้ คือ สุนัขจะยกขาบางครั้ง บางทีเขานั่งอยู่เขาอาจจะงอขา เวลาลุกยืนจะเห็นว่าเขาจะยืดขาไม่ค่อยได้ ต้องใช้เวลาถึงจะเดินได้ปกติ ถ้ามีการเสียดสีของกระดูกมากๆอาจจะเกิดแผลถลอก เกิดอาการอักเสบ ตรงนั้นก็จะสังเกตเห็นอาการได้ชัดเจนขึ้น"

 


วิธีการรักษา

"การรักษาให้กระดูกสะบ้ากลับมาสู่ปกติก็คือ การผ่าตัด กระดูกสะบ้าจะอยู่ในร่องของกระดูกต้นขาหลัง สุนัขบางพันธุ์ร่องตรงนี้มันตื้น หรือมีลักษณะนูนขึ้นก็เลยไม่มีตำแหน่งให้สะบ้าไปอยู่ การรักษาก็คือการผ่าตัดเข้าไปทำให้ร่องของกระดูกต้นขาลึกขึ้น แล้วก็มีการจัดแนวของกลุ่มกล้ามเนื้อให้อยู่ในแนวปกติ แก้ไขทุกๆส่วนโดยอาศัยการผ่าตัดหลายๆวิธีมารวมกัน"

"หลังจากการผ่าตัด สิ่งสำคัญก็คือ ดูแลการติดเชื้อของแผล และการที่จะให้สุนัขกลับมาใช้ข้อขาได้เร็วที่สุด มีการทำกายภาพบำบัดรวมด้วย ช่วงแรกก็จำกัดบริเวณมีการใช้ข้อขาร่วมด้วย ให้เขาใช้ขาได้ แต่อย่ามาก มีการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และอย่าให้อยู่ในพื้นลื่น"

ป้องกันได้อย่างไร

"การป้องกันนั้นอาจจะต้องดูจากการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ไม่เป็นโรคมาซึ่งก็ยากเหมือนกัน ต้องมาอยู่ในเรื่องของการจัดการมากกว่า เช่น การควบคุมน้ำหนัก อย่าให้เขาน้ำหนักเยอะเกินไป พื้นที่ใช้เลี้ยงเขาต้องไม่ลื่น เพื่อลดความรุนแรงของโรค หรือชะลอไม่ให้เกิดโรคขึ้นในสุนัขที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค

โรคนี้ถ้าเป็นในสุนัขเด็กๆที่กำลังมีการเจริญเติบโตให้รีบพามาพบสัตวแพทย์ ให้รีบแก้ไข ถ้าเราแก้ไขตั้งแต่ต้นๆการผ่าตัดก็ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ทำไม่ยาก สุนัขไม่เจ็บมาก ก็สามารถช่วยให้ขากลับมาทำงานปกติได้ ต้องคอยสังเกตว่าสุนัขมีอาการเดินเป็นยังไง"


ขอขอบคุณ
อ.สพ.ญ.ชาลิกา หวังดี
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทรศัพท์ 0-2218-9750-1
และ "พี่ปุ๊" อัญชลี จงคดีกิจ

 

อ่านเรื่องราวผู้หญิงมากมายที่นี่!

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook